22/3/54

ตลาดวิชาแห่ง "อัลอัซฮัร" มหาวิทยาลัยศาสนาของโลกมุสลิม by : อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์

ในขณะนักเรียนมัธยมทั่วประเทศกำลังจะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสถาบันต่างๆ ของประเทศไทย แต่สำหรับนักเรียนมุสลิมภาคใต้ ดูเหมือนจะมีทางเลือกมากกว่านักเรียนทั่วไปแม้สถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาการ มุสลิมในประเทศจะมีอยู่เพียง 3 แห่ง เท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะนักเรียนส่วนหนึ่งกำลังหาที่เรียนในต่างประเทศ สถาบันหนึ่งที่นักศึกษามุสลิมใต้ต้องการไปเรียนมากที่สุดคือ มหาวิยาลัยอัลอัซฮัร (AL-Azhar) ประเทศอียิปต์ สถาบันวิชาการศาสนาของโลกมุสลิม ซึ่งก่อตั้งมานานนับพันปี เรียกได้ว่าเก่าแก่กว่ามหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ของอังกฤษเสียอีก

ที่นี่เสมือนมหาวิทยาลัยเปิด ตลาดวิชาสำหรับมุสลิมผู้ศรัทธา ใส่ใจในหลักวิชาการศาสนาทุกคน ไม่มีการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษา

ในปีหนึ่งๆ จะมีนักศึกษามุสลิมจากภาคใต้ เข้าศึกษาต่อด้านศาสนาและสามัญ
(แต่ส่วนใหญ่เป็นศาสนา) ในระดับอุดมศึกษาที่สถาบันแห่งนี้ ไม่ต่ำกว่า 100 คน หากรวมนักศึกษามุสลิมจากประเทศไทย ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันแห่งนี้ทุกชั้นปี คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 3,000 คน

ก่อนที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงสาเหตุที่มุสลิมใต้ไปเรียนต่อที่อียิปต์ ผู้เขียนขอกล่าวถึงหลักสูตรการเรียนศาสนาที่จังหวัดชายแดนใต้


หลักสูตรการเรียนศาสนาอิสลามได้แบ่งชั้นเรียนเป็น 10 ชั้นปี
(แต่ปัจจุบันได้ปรับเป็น 12 ปีตามการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ได้แก่ หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนต้น (อิบติดาอียะฮฺ ปีที่ 1-4 หรือ1-6) หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนกลาง (มุตาวัซซีเตาะฮฺ ปีที่ 5-7) และหลักสูตรอิสลามศึกษาตอนปลาย (ซานาวียะฮฺ ปีที่ 8-10)

การเรียนการสอนในหลักสูตรจะแบ่งเป็น 3 หมวดวิชา 1.ด้านศาสนา ประกอบด้วยวิชาหลักศรัทธา, คัมภีร์อัลกุรอาน, อรรถาธิบายอัลกุรอาน,หลักการอรรถาธิบายกุรอาน, วจนะศาสดา, หลักการวจนะศาสดา, กฏหมายอิสลาม,หลักการนิติศาสตร์อิสลาม,การแบ่งมรดก,


2 หมวดภาษา ประกอบด้วย ภาษาอาหรับ, สำนวนโวหารอาหรับ, ภาษามลายู ภาษาอังกฤษ หมวดสังคมและจริยธรรมประกอบด้วยวิชาประวัติศาสตร์อิสลาม, มารยาทอิสลาม และมารยาทกับต่างศาสนิก, เศรษฐศาสตร์อิสลาม, ตรรกศาสตร์, ปรัชญาอิสลาม, ดาราศาสตร์


โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากกว่า 300 แห่ง และผู้ที่จบระดับซานาวีย์
(อิสลามศึกษาตอนปลาย) ในปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 900 คน ในขณะสถาบันการศึกษาด้านศาสนาระดับมหาวิทยาลัยของไทยมีเพียง 3 แห่ง คือ1.วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2. วิทยาลัยอิสลามยะลา (ปัจจุบันปรับเป็นมหาวิทยาลัยอิสลามปัตตานี) 3. คณะอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งรับนักเรียนปีหนึ่งๆ เพียงไม่กี่คน ทำให้นักเรียนที่เหลือต้องดิ้นรนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น มาเลเซียอินโดนีเซีย บูรไน ตะวันออกกลางซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นมหาวิทยาลัยปิดมีโควตาชัดเจนในการรับนัก ศึกษาใหม่

แต่สำหรับอัลอัซฮัรเป็นมหาวิทยาลัยเปิดรับไม่อั้น เพียงให้มีใบรับรองการจบศาสนาระดับซานาวีย์ก็เพียง พอ ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุให้มีนักศึกษาไทยตัดสินใจไปที่นั้นเป็นเหตุผลหลัก ส่วนเหตุผลรองคือ มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรเป็นมหาวิทยาลัยด้านอิสลามศึกษาติดอันดับหนึ่งของโลก มุสลิม และที่สำคัญหากต้องการพูดอาหรับได้ดีต้องเรียนโลกอาหรับเท่านั้น ซึ่งเหมือนกับภาษาอังกฤษหากต้องการพูดภาษาอังกฤษได้ดีต้องเรียนกับเจ้าของ ภาษาเท่านั้น

ประวัติ การก่อตั้ง มหาลัยอัลอัซฮัร

หลังการพิชิตอียิปต์ของพวกฟาตีมียะห์ โดยแม่ทัพ เญาฮัร อัซซิกิลลีย์ ในยุคสมัยคอลีฟะห์ อัลมุอิซซ์ลี ดีนิลลลาห์ แห่งราชวงศ์ฟาตีมียะห์ แม่ทัพ เญาฮัร อัซซิกกิลลีย์ก็ได้สร้างกรุงไคโร ขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ แล้วเสร็จราว 9 เดือน แม่ทัพเญาฮัรก็ได้สร้างมัสยิดญามิอ์ อัลอัซฮัร เพื่อเป็นสถานที่ประกอบนมัสการ โดยเปิดละหมาดวันศุกร์อย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 7 เดือนรอมาดอน ปี ฮ.ศ. 361


มัสยิดญามิอ์ อัลฮัซฮัร นับเป็นมัสยิด สำคัญแห่งที่ 4 ในหัวเมืองสำคัญของอาณาจักรอิสลาม ในยุคแรกวัตถุประสงค์การก่อสร้างนั้น มิใช่เพื่อจะให้เป็นสถาบันทางการศึกษาเหมือนดังปัจจุบัน แต่สร้างขึ้นเพื่อเป็นมัสยิดหลวงอย่างเป็นทางการของพวกฟาตีมียะห์ และเพื่อเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการเผยแพร่แนวคำสอนของชีอะห์ อิสมาอีลียะห์ที่พวกฟาตีมียะห์ยึดถือ


ความคิดในเรื่องการใช้มัสยิดอัลฮัซฮัรเป็นสถาบันการศึกษานั้น เพิ่งจะมาเริ่มในยุคสมัยคอลีฟะห์ อัลอาซีซ บิลลาห์ อันเป็นผลมาจากการแน่นหนักในการเผยแพร่แนวคำสอนของชีอะห์ ดังนั้นในปี ฮ.ศ. 378 เสนาบดียะกู๊บ อิบนุ กิลลิซ ซึ่งเป็นชาวยิวที่รับอิสลาม ได้แต่งตั้งนักวิชาการนิติศาสตร์จำนวน 37 ท่าน ให้ดำเนินการเรียนการสอนตามแนวทางชีอะห์


ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา มัสยิดญามิอ์ อัลอัซฮัร ก็กลายเป็นสถาบันทางการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่สำคัญในโลกอิสลาม เหตุที่เรียกสถาบันทางการศึกษาซึ่งแต่ดั้งเดิมคือ มัสยิดญามิอ์แห่งนี้ว่า อัลอัซฮัร ก็เพื่อว่าเป็นอนุสรณ์แก่ท่านหญิงฟาตีมะห์ อัซซะฮ์รอฮ์ บุตรีของท่านศาสนทูต บ้างก็ว่าที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะมีบรรดาปราสาท และตำหนักของคอลีฟะห์ตลอดจนสวนดอกไม้ ที่ถูกสร้างอยู่รายรอบ


นาม "มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร อัชชะรีฟ" ซึ่งมีความเก่าแก่มากกว่ามหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ของอังกฤษเสียอีก


คณะการศึกษาต่างๆ อัลอัซฮัร.

มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร จะเปิดรับสมัครนักศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศประมาณกลางเดือนกันยายน - กลางเดือนตุลาคมของทุกปี และจะเปิดทำการสอนภาคเรียนที่ 1 ประมาณเดือนตุลาคม เป็นต้นไป ซึ่งคณะต่าง ๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยจะทำการเปิดสอนมีดังนี้

คณะต่าง ๆ ที่อยู่ในกรุงไคโร

คณะต่าง ๆ ที่อยู่นอกกรุงไคโร


ทั้ง 15 คณะที่กล่าวข้างต้นนั้น ที่เป็นสายศาสนามี 4 คณะ คือ คณะศาสนศาสตร์ คณะนิติศาสตร์อิสลามและสากล คณะอักษรศาสตร์ภาษาอาหรับ คณะนิเทศศาสตร์อิสลาม


ส่วนคณะที่เป็นกึ่งศาสนา - สามัญ มี 2 คณะ คือ ศึกษาศาสตร์ และคุรุศาสตร์ ส่วนคณะต่าง ๆ ที่นอกเหนือจาก 6 คณะนี้ เป็นสายสามัญ
(ซึ่งหากนักศึกษาไทยสามารถนำมาวุฒิมัธยมศึกษาปีที่6มาศึกษาต่อได้)

คำสอนของท่านศาสนาระบุไว้ชัดเจนกว่าพันปีแล้วว่า มุสลิมที่ดีต้องเรียนรู้ศึกษาตลอดชีวิต จากครรภ์มารดา จนถึงหลุมฝังศพ


อัลอัซฮัร เป็นตัวอย่างหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา ในโลกมุสลิม ซึ่งมุ่งให้โอกาสทางการศึกษาแก่มุสลิมผู้ศรัทธาอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงแม้แต่ความสามารถและสติปัญญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น