ซุนนีย์ คือนิกายหนึ่งในศาสนาอิสลาม มีชื่อเต็มในภาษาอาหรับว่า อะหฺลุซซุนนะหฺ วะ อัลญะมาอะหฺ (อาหรับ: أهل السنة والجماعة) (นิยมอ่านว่า อะหฺลุซซุนนะหฺ วัลญะมาอะหฺ) เป็นนิกายที่ใหญ่ที่สุดในอิสลาม แบ่งเป็นสำนักหรือมัซฮับย่อย ๆ ออกเป็นหลายมัซฮับ แต่ปัจจุบันเหลือแค่เพียง 4 มัซฮับ นอกจากนี้ยังมีมัซฮับมุสลิมซุนนีย์ที่ไม่ยึดถือมัซฮับ เรียกตนเองว่า พวกสะละฟีย์
ที่มาของคำ ซุนนีย์
คำว่า ซุนนีย์ มาจาก อัซซุนนะห (السنة)แปลว่า คำพูดและการกระทำหรือแบบอย่างของศาสดามุฮัมมัด (ศ) คำว่า ญะมาอะหฺ คือ การอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ผู้ที่บัญญัติศัพท์นี้ขึ้นมาคือ อะฮฺมัด บินฮันบัล (ฮ.ศ. 164-241 / ค.ศ. 780-855)
คำว่า “السنة - อัซซุนนะหฺ” เป็นคำที่ท่านนบีมุฮัมมัด มักจะใช้บ่อยครั้งในคำสั่งสอนของท่าน เช่น ในฮะดีษศ่อฮีฮฺที่บันทึกโดยอิมามอะฮฺมัด, อัตติรมีซีย์, อะบูดาวูด และอิบนุมาญะหฺ ซึ่งท่านนบีได้กล่าวว่า “พวกท่านทั้งหลายจงยึดมั่นในแนวทางของฉัน ( سُنَّتِي ) และแนวทางของผู้นำที่อยู่ในแนวทางอันเที่ยงธรรมของฉัน (อัลคุละฟาอ์ อัรรอชิดูน) ที่จะมาหลังฉัน จงเคร่งครัดในการยึดมั่นบนแนวทางนั้น จงกัดมันด้วยฟันกราม (คืออย่าละทิ้งเป็นอันขาด) และจงหลีกให้พ้นจากอุตริกรรมในกิจการของศาสนา เพราะทุกอุตริกรรมในกิจการศาสนานั้นเป็นการหลงผิด”
อะหฺลุซซุนนะหฺ วะ อัลญะมาอะหฺฺ ( أَهْلُ السُّنَّةِ وَالْجَمَاعَةِ ) ก็คือ ผู้ที่ยึดมั่นในซุนนะหฺ (แนวทางของท่านนบีมุฮัมมัด) และยึดมั่นในสิ่งที่บรรดากลุ่มชนมุสลิมรุ่นแรกยึดมั่น (บุคคลเหล่านั้นคือบรรดาศ่อฮาบะหฺและบรรดาตาบิอีน) และพวกเขารวมตัวกัน (เป็นญะมาอะหฺ) บนพื้นฐานของซุนนะหฺ ซึ่งชนกลุ่มนี้อัลลอหฺได้กล่าวถึงความประเสริฐของพวกเขาไว้ว่า “บรรดาบรรพชนรุ่นแรกในหมู่ผู้อพยพ (ชาวมุฮาญิรีนจากนครมักกะหฺ) และในหมู่ผู้ให้ความช่วยเหลือ (ชาวอันศอรจากนครมะดีนะหฺ) และบรรดาผู้ดำเนินตามพวกเขาด้วยการทำดีนั้น อัลลอหฺทรงพอพระทัยในพวกเขา และพวกเขาก็พอใจในพระองค์ด้วย และพระองค์ทรงเตรียมไว้ให้พวกเขาแล้ว ซึ่งสวนสวรรค์อันหลากหลายที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านเบื้องล่าง พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล นั่นคือชัยชนะอันใหญ่หลวง” (ซูเราะหฺอัตเตาบะหฺ : 100)
ประวัติ
ในสมัยการปกครองของยะซีด บินมุอาวิยะหฺ คำสั่งสอนแห่งอัลกุรอานและแห่งศาสนทูตถูกละทิ้ง ชาวมะดีนะหฺผู้เคร่งครัดถูกได้รับความกดดันจากตระกูลอุมัยยะหฺผู้ปกรอง อาณาจักรอิสลาม และภายใต้ความกดดันนั้นได้เกิดหล่อหลอมเป็นกลุ่มผู้ยึดมั่นในแนวทางอิสลาม แบบเดิม เพื่อต่อต้านตระกูลอุมัยยะหฺ โดยเฉพาะหลังจากที่กองทัพจากชาม ในสมัยการปกครองของยะซีด บินมุอาวิยะหฺ ได้สังหารฮุเซน หลานตาศาสนทูตมุฮัมมัด พร้อมกับญาติพี่น้อง ที่กัรบะลาอ์ 73 คนในปี ค.ศ. 680 และต่อมาในปี ค.ศ. 683 ยะซีดส่งกองทัพเพื่อโจมตีพระนครมะดีนะหฺที่อับดุลลอหฺ บินอุมัร อิบนุลคอฏฏอบ เป็นผู้นำในการต่อต้านการปกครองของยะซีด และโจมตีมักกะหฺ ที่อับดุลลอหฺ อินนุซซุเบรสถาปนาตนเองเป็นคอลีฟะหฺแห่งอาณาจักรอิสลาม ชาวเมืองมะดีนะหฺร่วมกันออกต้านทัพของยะซีด ที่นำโดยอุกบะหฺ ณ สถานที่ ที่มืชื่อว่า อัลฮัรเราะหฺ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ จนกองทัพของยะซีดสามารถเข้าปล้นสะดมเมืองมะดีนะหฺ เป็นเวลาสามวันสามคืนตามคำสั่งของยะซีด ทหารชาม เข่นฆ่าผู้คน และข่มขืนสตรี จนกระทั่งมีผู้คนล้มตายประมาณ 10,000 คน ในจำนวนนั้นมีบุคคลสำคัญ 700 คน นอกจากนั้นมีผู้หญิงตั้งท้องเนื่องจากถูกข่มขืนชำเราอีก 500 คน หลังจากนั้นกองทัพชามก็มุ่งสู่มักกะหฺเพื่อปราบปราม อิบนุซซุเบร โดยเข้าเผากะอฺบะหฺ และเข่นฆ่าผู้คน ประชาชนชาวมุสลิมต่อต้านการปกครองตลอดมา แต่แล้วในปี ค.ศ. 692 อับดุลมะลิก บินมัรวานก็ส่ง ฮัจญาจญ์ บินยูสุฟ อัษษะกอฟีย์ มาโจมตีมักกะหฺอีกครั้ง ครั้งนี้อับดุลลอหฺ อิบนุซซุเบร ถูกสังหารและศพถูกตรึงที่ไม้ ปักไว้หน้ากะอฺบะหฺ ส่วนกะอฺบะหฺก็ถูกทำลาย
ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนในอาณาจักรอิสลามแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มชนใหญ่ ๆ พวกที่ฝักใฝ่ทางโลกก็สนับสนุนการปกครองของตระกูลอุมัยยะหฺ พวกที่ต่อต้านการปกครองระบอบคอลีฟะหฺ ยึดถือบุตรหลานศาสนทูตเป็นผู้นำก็คือพวกชีอะหฺ พวกที่เชื่อว่าบรรดาสาวกคือผู้นำและสานต่อสาส์นแห่งอิสลามหลังจากนบีมุฮัมมัด พวกนี้คือ อะหฺลุซซุนนะหฺ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่ได้มีการบัญญัติศัพท์นี้ เพราะ คำว่า ซุนนะห วัลญะมาอะหฺ ถูกบัญญัติขึ้นมาจริง ๆ โดยอะฮฺมัด บินฮันบัล (ค.ศ. 780-855/ฮ.ศ.164-241) นอกจากนี้ยังมีพวกคอวาริจญ์ ที่เป็นกบฏและแยกตัวออกจากอำนาจการปกครองของอิมามอะลีย์ เมื่อครั้งที่เป็นคอลีฟะหฺที่ 4
ในฮิจญ์เราะหฺศตวรรษที่ 3 และที่ 4 ได้มีการรวบรวมฮะดีษขึ้น มา จัดเป็นอนุกรมและหมวดหมู่ เรียกในภาษาไทยว่า พระวจนานุกรม ในสายอะหฺลุซซุนนะหฺ มีมากกว่า 10 พระวจนานุกรม ที่สำคัญคือ 6 พระวจนานุกรม ที่ผู้รวบรวม โดย อัลบุคอรีย์, มุสลิม, อัตตัรมีซีย์, อะบูดาวูด, อิบนุมาญะหฺ และอันนะซาอีย์ นอกจากนี้ยังมีพระวจนานุกรมที่รวบรวมโดย มาลิก บินอะนัส (เจ้าสำนักมาลิกีย์) , อะฮหมัด บินฮันบัล (เจ้าสำนักฮันบะลีย์) , อิบนุคุซัยมะหฺ, อิบนุฮิบบาน และอับดุรรรอซซาก ในยุคหลังนี้ได้มีการตรวจสอบสายรายงานอย่างถี่ถ้วน พระวจนานุกรมอัลบุคอรีย์และมุสลิมได้รับการยอมรับมากที่สุดในสังคมมุสลิมซุน นีย์
สำนัก หรือ ทัศนะ นิติศาสตร์อิสลาม
ชะรีอะหฺ (شريعة) หรือ นิติบัญญัติอิสลามตามทัศนะของซุนนีย์นั้น มีพื้นฐาน มาจากอัลกุรอานและซุนนะหฺ (อิจย์มาอฺ) มติฉันท์ของเหล่าผู้รู้ และกิยาส (การเปรียบเทียบกับบทบัญญัติที่มีอยู่แล้ว) นิกายซุนนีย์มีในอดีตมี 17 สำนัก แต่ได้สูญหายไปกับกาลเวลา ในปัจจุบันนิกายซุนนีย์มี 4 สำนัก ที่เป็นสำนักเกี่ยวกับฟิกหฺ (นิติศาสตร์อิสลาม) ได้แก่
- ฮะนะฟีย์ (ทัศนะของอะบูฮะนีฟะหฺ นุอฺมาน บินษาบิต) -
- มาลีกีย์ (ทัศนะของมาลิก บินอะนัส)
- ชาฟีอีย์ (ทัศนะของมุฮัมมัดมัด บินอิดริส อัชชาฟิอีย์) - ผู้ที่ยึดถือทัศนะนี้คือ คนส่วนใหญ่ในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย
- ฮันบะลีย์ (ทัศนะของท่านอะฮฺมัด บินฮันบัล)
ปัจจุบันมีอีกกลุ่มที่สำคัญคือ กลุ่มที่ไม่ได้ยึดถือหรือสังกัดตนอยู่ใน 4 กลุ่มข้างต้น แต่การวินิจฉัยหลักการศาสนาจะใช้วิธีศึกษาทัศนะของทั้ง 4 กลุ่มแล้ววิเคราะห์ดูว่าทัศนะใดที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากที่สุด โดยยึดอัลกุรอานและซุนนะฮฺเป็นธรรมนูญสำคัญในการวินิจฉัยเรื่องต่างๆในศาสนา
สำนัก หรือ ทัศนะ เกี่ยวกับอุศูลุดดีน (ปรัชญาศาสนา)
นอกจากนี้ยังมีสำนักเกี่ยวกับอุศูลุดดีน (ปรัชญาศาสนา) อีกหลายสำนัก ที่สำคัญได้แก่ 4 สำนักคือ
- สำนักมุอฺตะซิละหฺ (معتزلة) จัดตั้งขึ้นโดย วาศิล บินอะฏออ์ (ค.ศ. 699-749) ศิษย์ที่มีความคิดแตกต่างจากฮะซัน อัลบัศรีย์ (ค.ศ. 642-728) ผู้เป็นอาจารย์
- สำนักอัชอะรีย์ มาจากแนวคิดของอะบุลฮะซัน อัลอัชชะรีย์ (ค.ศ. 873-935) แต่ผู้ที่พัฒนาแนวคิดนี้ คือ อัลฆอซาลีย์ นักวิชาการศาสนาและปรมาจารย์ศูฟีย์
- สำนักมาตุรีดีย์ เป็นทัศนะของอะบูมันศูร อัลมาตุรีดีย์ (มรณะ ค.ศ. 944) ในตอนแรกเป็นสำนักปรัชญาของชนกลุ่มน้อย ต่อมาเมื่อเป็นที่ยอมรับของเผ่พันธุ์เติร์ก และพวกออตโตมานมีอำนาจ ก็ได้ทำให้สำนักนี้แพร่หลายในเอเชียกลาง
- สำนักอะษะรีย์ เป็นทัศนะของ อะฮฺมัด บินฮันบัล ผู้เป็นเจ้าสำนักฟิกหฺดังกล่าวมาแล้ว
หากมุอฺตะซิละหฺแยกตัวออกจากสำนักของ ฮะซัน อัลบัศรีย์ ย่อมแสดงว่าก่อนหน้านั้นต้องมีสำนักปรัช ญามาก่อนแล้ว ฮะซัน อัลบัศรีย์ เองก็มีแนวคิดของตนเช่นกัน นั่นก็เพราะ ฮะซัน อัลบัศรีย์ เป็นปรมาจารย์ของสำนักศูฟีย์ ที่ภายหลังแตกขยายเป็นหลายสาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น