24/3/54

การต่อสู้ครั้งใหม่ในระหว่างพวก‘อิสลามิสต์’ภายหลังอียิปต์โค่น ‘มูบารัค’

  เมื่อต้องเผชิญกับการ ชุมนุมประท้วงตามท้องถนนครั้งยิ่งใหญ่มโหฬาร ฮอสนี มูบารัค ก็ก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีอียิปต์ที่เขาครอบครองมาเป็นเวลา 30 ปี ความเคลื่อนไหวคราวนี้น่าที่จะทำให้กลุ่ม “ภราดรภาพมุสลิม” ที่เป็นพวกนิกายสุหนี่ กลับผงาดโดดเด่นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ขณะที่อิหร่านก็ประกาศให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อ “การตื่นขึ้นมาอย่างอิสลาม” คราวนี้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อิหร่านซึ่งเป็นพวกนิกายชิอะห์ กับพวกอิสลามิสต์ฝ่ายสุหนี่ อาจจะอยู่ข้างเดียวกันได้เป็นการชั่วคราว แต่ในที่สุดแล้วก็จะต้องเกิดการปะทะกันในตลอดทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้อย่าง หลีกเลี่ยงไม่พ้น
      
       *ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *
      
       อิสลามาบัด, ปากีสถาน – ยุคสมัยที่กินระยะเวลา 30 ปีแห่งการครองอำนาจของประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ที่บัดนี้ก้าวลงจากตำแหน่งแล้ว เป็นอันสิ้นสุดลงด้วยคำแถลงสั้นๆ บรรจุถ้อยคำ 56 คำ คำแถลงดังกล่าวถูกนำมาอ่านโดยรองประธานาธิบดี โอมาร์ สุไลมาน (Omar Sulieman) ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าดูแลหน่วยงานด้านข่าวกรองของมูบารัค การสิ้นสุดลงของยุคมูบารัคเช่นนี้ ย่อมเป็นการให้ชีวิตใหม่แก่กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ที่ก่อนหน้านี้อยู่ในภาวะสงบเสงี่ยมเรื่อยมา ทว่ามันยังไม่ได้มีความหมายใหญ่โตถึงขนาดเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง มรดกของมูบารัคยังน่าที่จะได้รับการสืบทอดต่อไปอีก เฉกเช่นเดียวกับที่ได้บังเกิดขึ้นในประเทศตูนิเซียก่อนหน้านี้
      
       คำ แถลงที่รองประธานาธิบดีสุไลมานนำมาอ่าน มีเนื้อหาดังนี้ “ในพระนามของพระเจ้าผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ พลเมืองทั้งหลาย ระหว่างที่เกิดสภาพการณ์อันยากลำบากอย่างยิ่งเหล่านี้ซึ่งอียิปต์กำลังเดิน ก้าวผ่านพ้นไปอยู่นี้ ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ได้ตัดสินใจที่จะก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐแล้ว และได้มอบอำนาจให้คณะกรรมาธิการระดับสูงของกองทัพ เป็นผู้บริหารกิจการของประเทศชาติ ขอพระเจ้าได้ทรงช่วยเหลือทุกๆ คน”
      
       จาก คำแถลงของสุไลมานดังกล่าวนี้ ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้อันชัดเจนว่า ฝ่ายทหารได้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจ นำโดยรัฐมนตรีกลาโหม จอมพล โมฮัมเหม็ด ฮุสเซน ตันตาวี (Mohammed Hussein Tantawi) หลังจากที่การชุมนุมประท้วงตามท้องถนนของประชาชนดำเนินมาได้กว่า 2 สัปดาห์
       .
       การ ปิดฉากลงของยุคสมัยแห่งการปกครองอันยาวยืดของมูบารัคที่ปัจจุบันอยู่ในวัย 83 ปีเช่นนี้ ได้กลายเป็นการทำลายภาวะเงียบงันสลบไสลที่เข้าครอบงำแวดวงภูมิปัญญาความรอบ รู้ร่วมของโลกมุสลิม และในเวลาเดียวกันก็ทำให้เกิดความตระหนักรับรู้กันขึ้นมาใหม่ว่า การเคลื่อนไหวปลุกระดมมวลชนเป็นสิ่งที่มีทรงพลังเป็นสิ่งที่มีอำนาจชี้ขาด กระนั้นก็ตามที จากการที่ภูมิภาคตะวันออกกลางในปัจจุบันยังคงขาดไร้ขบวนการต่อสู้เพื่อ ประชาธิปไตยอันแท้จริง ดังนั้นภูมิภาคแถบนี้จึงน่าที่จะกลายเป็นสนามประลองกำลังแห่งใหม่ ระหว่างอิหร่านที่เป็นมุสลิมนิกายชิอะห์ และกลุ่มภราดรภาพมุสลิมซึ่งมุสลิมนิกายสุหนี่อยู่ในฐานะครอบงำ
      
       อย่าง ไรก็ดี ต้องตราไว้ด้วยว่าอิหร่านนั้นมีความเข้าอกเข้าใจดีว่า ในขณะนี้เป็นเพียงขั้นตอนระยะผ่าน ซึ่งการตั้งความหวังว่าจะมีการปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โตถึงขั้นเปลี่ยน แปลงกระบวนทัศน์ (paradigm change) --ตัวอย่างเช่นการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อปี 1979 ที่ขับไล่โค่นล้มพระเจ้าชาห์-- ย่อมเป็นเพียงความฝันอันไกลห่างเท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่อิหร่านดูจะมุ่งมั่นตั้งใจดำเนินการ จึงอยู่ที่จะพยายามเจือจางลดทอนการกุมอำนาจ ตลอดจนเจือจางลดทอนบทบาทของเหล่าระบอบปกครองของฝ่ายสุหนี่ ที่ยังคงมีฐานะเหนือกว่าอย่างสุดกู่ในภูมิภาคแถบนี้ ไม่ว่าจะเป็นในซาอุดีอาระเบีย, อียิปต์, จอร์แดน, หรือ ตูนิเซีย
      
       สภาพ การณ์เช่นนี้น่าจะปรากฏออกมา ในรูปของการที่ประชาชนคนเดินถนนชาวอาหรับทั้งหลาย จะบังเกิดความขุ่นเคืองไม่พอใจกันมากขึ้น โดยที่อิหร่านวาดหวังว่ามันอาจจะช่วยให้ศาสนาอิสลามแบบนิกายชิอะห์เติบโต ขยายตัวขึ้นในตะวันออกกลาง หากผลลัพธ์ออกมาเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ย่อมจะกลายเป็นการเพิ่มพูนความล้ำลึกในทางยุทธศาสตร์ให้แก่อิหร่าน อีกทั้งยังเป็นไปได้ที่อาจจะนำไปสู่การฟื้นชีพขึ้นมาใหม่ของจักรวรรดิกาหลิ ปแห่งฟาติมิยะห์ (Fatimid caliphate) ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในตูนิเซียและอียิปต์ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.909 ถึง 1171
      
       ณ ช่วงจังหวะเวลาที่ระบอบปกครองมูบารัคกำลังร่อแร่จวนเจียนจะล้มครืนลงมา ขณะที่การปลุกระดมทางการเมืองตามท้องถนนของอาหรับก็ไม่มีท่าทางที่จะอ่อน กำลังลงไปนั้นเอง เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ อยาโตลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ก็ได้ออกมากล่าวในพิธีละหมาดใหญ่วันศุกร์ในกรุงเตหะราน ซึ่งเป็นการออกมากล่าวในพิธีเช่นนี้ครั้งแรกในช่วงระยะเวลา 7 เดือน
      
       “นี่ แหละคือสิ่งที่มักถูกพูดถึงอยู่เสมอในฐานะที่เป็นการปรากฎของการตื่นขึ้นมา อย่างอิสลาม (Islamic awakening) ในช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติอิสลามของประชาชาติแห่งชาวอิหร่านผู้ยิ่งใหญ่ (ในปี 1979) และมันก็กำลังแสดงตัวออกมาให้เห็นอีกในวันนี้” เขากล่าว
      
       “การ ปฏิวัติของพวกเรากำลังสร้างแรงบันดาลใจและก็กลายเป็นแบบอย่างเพื่อการเจริญ รอยตาม สืบเนื่องจากความวิริยะอุตสาหะ, ความมีเสถียรภาพ, และการยืนหยัดอยู่ในหลักการของการปฏิวัตินี้” คาเมเนอี พูดในอีกตอนหนึ่ง
      
       “วันนี้ ในอียิปต์ใครๆ ก็สามารถได้ยินเสียงของพวกท่านกำลังก้องสะท้อนดังอุโฆษ ประธานาธิบดีอเมริกันผู้นั้น (จิมมี คาร์เตอร์) ผู้ซึ่งอยู่ในอำนาจในระหว่างการปฏิวัติ (อิหร่าน) ได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่พวกท่านได้ยินในอียิปต์ฟังดูคุ้นหูมาก สิ่งที่กำลังได้ยินอยู่ในไคโรวันนี้คือสิ่งที่ได้ยินกันในเตหะรานในระหว่าง วันเวลา (แห่งการดำรงตำแหน่ง) ของเขา” คาเมเนอี บอก เขายังพูดด้วยว่า พัฒนาการที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ มานี้ในแอฟริกาเหนือ เป็นผลลัพธ์ของ “การตื่นขึ้นมาอย่างอิลาม ซึ่งตามหลังการปฏิวัติอิสลามอันยิ่งใหญ่ของประชาชาติอิหร่าน”
      
       ทาง ด้าน คามัล อัล ฮัลบาวี (Kamal al-Halbavi) ผู้นำของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ได้กล่าวยกย่องสรรเสริญคำแถลงคราวนี้ของคาเมเนอี ในระหว่างที่เขาให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุบีบีซีภาคภาษาเปอร์เซีย นอกจากนั้นเขากล่าวด้วยว่าต้องการให้ประเทศอียิปต์ของเขาดำเนินการพัฒนาใน ทุกๆ ด้านแบบเดียวกับในอิหร่าน เขาบอกว่าอิหร่านกำลังประสบความสำเร็จมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและทาง ด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งกำลังกลายเป็นมหาอำนาจรายหนึ่งของภูมิภาค
      
       มา ถึงตอนนี้ ขอให้เราพิจารณาข้อเขียนของ จิม โล้บ (Jim Lobe) แห่งสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service) ซึ่งเขียนถึงกลุ่มภราดรภาพมุสลิมเอาไว้อย่างน่าสนใจ เขาบอกว่า “กลุ่มภราดรภาพมุสลิมได้รับการยอมรับว่าเป็นการรวมกลุ่มทางการเมืองที่มีการ จัดตั้งจัดองค์กรอย่างดีที่สุดและมีระเบียบวินัยสูงที่สุด ความนิยมชมชื่นที่กลุ่มนี้ได้รับจากประชาชนนั้น เห็นกันว่าสืบเนื่องจากเครือข่ายให้บริการทางสังคมและบริการทางการแพทย์ของ กลุ่ม ซึ่งมุ่งให้บริการแก่ภาคส่วนที่ยากจนของสังคม รวมทั้งเนื่องจากการที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมยึดมั่นมาเป็นเวลายาวนานในจุดยืน ที่คัดค้านระบอบปกครองมูบารัค ตลอดจนการที่พวกเขาถูกกล่าวโทษถูกจับกุมเล่นงานจากระบอบมูบารัค เป็นที่เชื่อกันว่ากลุ่มนี้ได้รับความจงรักภักดีของประชาชนถึงประมาณ 30% ของประชากรทั่วทั้งอียิปต์ทีเดียว
      
       ในการเลือกตั้ง สมาชิกรัฐสภาของอียิปต์เมื่อปี 2005 พวกผู้สมัครที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอยู่กับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (ตัวกลุ่มภราดรภาพมุสลิมเอง ถูกสั่งยุบเลิกอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 1954) ชนะได้ที่นั่ง 20% ในรัฐสภาอียิปต์ แต่พวกเขากลับได้รับความสนับสนุนเพียงนิดเดียวเท่านั้นในการเลือกตั้งเมื่อ เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทว่าตามความเห็นของพวกผู้สังเกตการณ์ทั้งในท้องถิ่นและในระดับระหว่างประเทศ การเลือกตั้งคราวหลังนี้มีการทุจริตคดโกงอย่างโจ๋งครึ่ม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Party) ที่เป็นพรรครัฐบาล และบัดนี้ด้วยสถานการณ์การเมืองที่พลิกผัน จึงถูกมองว่ากำลังมีอนาคตที่ไม่แน่นอนเป็นอย่างยิ่ง”    กลุ่มภราดรภาพมุสลิมและแนวความคิดอุดมการณ์ของกลุ่มนี้ ได้หยั่งรากอย่างล้ำลึกในบรรดากลุ่มอิสลามิสต์ (ซึ่งส่วนใหญ่ที่สุดเป็นมุสลิมนิกายชิอะห์) ในอิหร่าน และได้ส่งอิทธิพลอย่างมากมายต่อการต่อสู้ของพวกเขาในช่วงกลางทศวรรษ 1960 จนถึงทศวรรษ 1970 อิทธิพลอันลึกซึ้งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอยู่ในงานเขียนของ ดร.อาลี ชาเรียตี (Dr Ali Shariati ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1933 – 1977) ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นนักทฤษฎีผู้เสนออุดมการณ์สำหรับการปฏิวัติอิสลาม ของอิหร่าน ทั้งนี้ชาเรียตีได้อ้างอิงผลงานของ ไซเอด กุตบ์ (Syed Qutb) แห่งกลุ่มภราดรภาพมุสลิมของอียิปต์ อยู่บ่อยครั้ง
      
       ภาย หลังที่เกิดการปฏิวัติอิสลามขึ้นในอิหร่าน ประเทศนี้ก็ได้กลายเป็นพลังดึงดูดหลักเบื้องหลังบรรดากลุ่มพลังฝ่ายอิสลา มิสต์ทั้งหลายในโลก คอลิด อิสลามโบวลี (Khalid Islambouli) นักรบญิฮัดซึ่งมีสายสัมพันธ์โยงใยอยู่กับ น.พ.อัยมาน อัล ซอวาฮิรี (Dr Ayman al-Zahawari) รองหัวหน้ากลุ่มอัลกออิดะห์ในปัจจุบัน ได้ก่อเหตุลอบสังหารประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต (Anwar Sadat) แห่งอียิปต์เมื่อปี 1981 ในเวลานั้นรัฐบาลอิหร่านซึ่งต้องการตอบโต้ต่อการที่ซาดัตยอมลงนามในสนธิ สัญญาสันติภาพกับอิสราเอล ตลอดจนการที่เขายินยอมให้พระเจ้าชาห์แห่งอิหร่านผู้ถูกโค่นล้มไปพำนักลี้ภัย อยู่ระยะหนึ่งในอียิปต์ ได้จัดแจงขนานนามถนนสายหนึ่งในกรุงเตะหรานเสียใหม่ตามชื่อของอิสลามโบวลี เพื่อเป็นการยกย่องปฏิบัติการของเขา หลังจากที่อิสลามโบวลีถูกลงโทษประหารชีวิตแล้ว รูโฮลเลาะห์ โคไมนี (Ruhollah Khomeini) ผู้นำสูงสุดของอิหร่านในเวลานั้น ยังได้ประกาศยกย่องเขาเป็นผู้สละชีพเพื่อศาสนา นอกจากนั้นอิหร่านยังเสนอให้ที่พำนักลี้ภัยแก่บรรดาสมาชิกในครอบครัวของอิส ลามโบวลีอีกด้วย
      
       ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้น นั่นคือ ตลอดช่วงทศวรรษ 1980 และทศวรรษ 1990 อันเป็นช่วงเวลาที่ระบอบปกครองอิยิปต์ทำการปราบปรามกวาดล้างกลุ่มภราดรภาพ มุสลิมอย่างเลวร้ายที่สุด อิหร่านก็ได้กลายเป็นบ้านแห่งที่สองของพวกผู้นำของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมจำนวน มาก นอกจากนั้นภายหลังเกิดเหตุการณ์โจมตีก่อวินาศกรรมสหรัฐฯในวันที่ 11 กันยายน 2001 อิหร่านยังได้ให้ที่พำนักหลบภัยแก่พวกผู้นำระดับสูงของอัลกออิดะห์อีกด้วย (ดูเรื่อง How Iran and al-Qaeda made a deal Asia Times Online, April 30, 2010, และเรื่อง Broadside fired at al-Qaeda leaders Asia Times Online December 10, 2010.)
      
       ปัจจุบันอิหร่านยังคงเป็นผู้สนับ สนุนรายใหญ่ที่สุดของ 2 องค์กรหลักของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในปาเลสไตน์ ซึ่งได้แก่ กลุ่มฮามาส (Hamas) และกลุ่ม อิสลามิก ญิฮัด (Islamic Jihad)
      
       การ ที่ขบวนการอิสลามิสต์ทั้งหลายให้การสนับสนุนการปฏิวัติในอิหร่าน และการที่อิหร่านก็ให้การสนับสนุนพวกองค์กรเหล่านี้ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็น พวกสุหนี่-ซาลาฟี (Sunni-Salafi) นั้น พวกขบวนการอิสลามิสต์เห็นกันว่าเป็นอะไรที่อาจเรียกว่า “การเข้าเป็นพวกเดียวกันสืบเนื่องจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์” (historic comprise)
      
       กลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่ได้รับการหนุนหลัง จากซาอุดีอาระเบีย ก็ได้เคยให้การสนับสนุนการปฏิวัติในอิหร่าน ด้วยจุดประสงค์ที่จะยุติราชวงศ์ชิอะห์ของพระเจ้าชาห์ซึ่งสืบทอดสายโลหิตกัน มาอย่างบริสุทธิ์สูงส่ง โดยที่ข้ออ้างเรื่องความบริสุทธิ์สูงส่งนี้เอง ได้ผสมผสานอย่างลึกซึ้งเข้าไปอยู่ในอคติที่มุ่งแยกตัวไม่ปะปนกับพวกอาหรับ และพวกเติร์ก นอกจากนั้นราชวงศ์นี้ยังเป็นความต่อเนื่องของจักรวรรดิซาฟาวิด (Safavid empire) ซึ่งพวกบรรพบุรุษของราชวงศ์นี้ได้เปลี่ยนไปนับถืออิสลามนิกายชิอะห์ในปี 1501 เพื่อสร้างข้ออ้างสำหรับการไม่ยอมรับชาวเติร์กออตโตมัน (Ottomon Turks) เข้าเป็นส่วนหนึ่งแห่งจักรวรรดิกาหลิปของตน ด้วยเหตุนี้ นักทฤษฎีผู้เสนออุดมการณ์ให้แก่การปฏิวัติอิหร่านอย่าง ดร.อาลี ชาเรียตี จึงขนานนามจักรวรรดิซาฟาวิด และลัทธิชิอะห์ของพระเจ้าชาห์ ว่าเป็น “ลัทธิชิอะห์สีดำ” (Black Shi'ism) โดยเจือด้วยอคติและลักษณะที่ไม่เป็นอิสลามจำนวนมาก
      
       ดัง นั้น กลุ่มภราดรภาพมุสลิมจึงตั้งความหวังเอาไว้ไม่ใช่น้อยๆ ให้แก่ “ลัทธิชิอะห์สีแดง” (Red Shi'ism) ของชาเรียตี ซึ่งมีรากเหง้าอิงอยู่กับคัมภีร์กุรอาน อิงอยู่กับชีวิตของศาสดามุฮัมมัด และชีวิตของลูกหลานของศาสดามุฮัมมัด (บานี ฟาติมะห์ Bani Fatima) ด้วยเหตุนี้เอง กลุ่มภราดรภาพมุสลิมจึงถือว่าการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน จะเป็นเพื่อนมิตรของประชาชาติอาหรับ กระนั้นก็ตามที มันก็สามารถมองได้ว่า นี่คือการจับมือเป็นพันธมิตรกันทางยุทธศาสตร์ของพวกอิสลามิสต์ทฝ่ายชิอะห์ และฝ่ายสุหนี่ เพื่อผลประโยชน์ที่มีอยู่ร่วมกันของพวกเขา นอกจากนั้น พวกอิสลามิสต์ฝ่ายชิอะห์ยังคิดพิจารณาไปถึงการที่พวกเขาจะสามารถขยายบทบาทใน โลกมุสลิมเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
      
       ในทำนองเดียวกัน การที่อิหร่านประกาศในช่วงหลังๆ มานี้ ว่าสนับสนุนพวกอิสลามิสต์ทั้งหลายในภูมิภาคตะวันออกกลาง ก็สามารถถือเป็นการเดินหมากทางยุทธศาสตร์ โดยที่พวกเขามองว่าพวกอิสลามิสต์ที่มีฝ่ายสุหนี่เป็นสมาชิกส่วนใหญ่นั้น ไม่น่าที่จะก่อให้เกิดการปฏิวัติอิสลามใดๆ ขึ้นมาได้ ทว่าพวกอิสลามิสต์สุหนี่เหล่านี้ย่อมสามารถที่จะร่วมส่วนแสดงบทบาทในการทำ ให้เกิดความปั่นป่วนผันผวนทางการเมืองขึ้นมาอย่างแน่นอน ประธานาธิบดี อาลี อับดุลเลาะห์ ซาเละห์ (Ali Abdallah Saleh) แห่งเยเมน และกษัตริย์อับดุลเลาะห์ (King Abdullah) แห่งจอร์แดน กำลังถูกสั่นคลอนเสถียรภาพอย่างหนักในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ว่าแม้กระทั่งภายหลังการล้มครืนของมูบารัคในอียิปต์ ก็ยังไม่มีกลุ่มพลังทางการเมืองอันเข้มแข็งใดๆ ในประเทศเหล่านี้ ที่อาจจะกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชนิด ที่มีความหมายใดๆ ขึ้นมาได้
      
       อย่างไรก็ดี สภาพแวดล้อมของภูมิภาคตะวันออกกลางที่กำลังถูกกระตุ้นด้วยสถานการณ์ทางการ เมืองเฉกเช่นปัจจุบันนี้ อาจจะส่งผลกระเพื่อมต่อเนื่องไปในอิรัก, บาห์เรน, คูเวต, และซาอุดีอาระเบีย
      
       การปรากฏตัวของผู้นำสูงสุด ของอิหร่านภายหลังจากที่หายหน้าไปนาน และการที่เขาเรียกร้องให้เกิด “การตื่นขึ้นมาอย่างอิสลาม” ในตะวันออกกลาง ไม่ได้ติดตามมาพร้อมกับความสนับสนุนทางวัตถุใดๆ ทั้งสิ้นต่อพวกอิสลามิสต์สุหนี่ในโลกอาหรับ ทว่าเป็นที่แน่นอนทีเดียวว่าอิหร่านจะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ “การตื่นขึ้นมาอย่างอิสลาม” ในหมู่อิสลามิสต์ฝ่ายชิอะห์ ทั้งในอิรัก, เยเมน, บาห์เรน, คูเวต, และซาอุดีอาระเบีย เหมือนกับที่พวกเขาได้เคยกระทำมาแล้วเมื่อตอนที่ซาอุดีอาระเบียและเยเมนร่วม มือกันปราบปรามกวาดล้างการก่อกบฎของพวกชิอะห์ที่ได้รับการหนุนหลังจาก อิหร่านในปี 2009 ทั้งนี้ต้องไม่ลืมด้วยว่า ในกรณีของบาห์เรนนั้น มักต้องพึ่งพิงอาศัยกองทหารรักษาดินแดนแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย (Saudi National Guards) อยู่เสมอ ในการควบคุมไม่ให้เกิดการก่อความไม่สงบของชิอะห์ ซึ่งมีทางอิหร่านคอยหนุนหลังอยู่
      
       เมื่อพิจารณากันใน ทางอุดมการณ์แล้ว อิสลามแบบสุหนี่ และอิสลามแบบชิอะห์ ย่อมเป็นศัตรูทางการเมืองกันมาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นทีเดียว หากย้อนหลังเข้าไปในประวัติศาสตร์ อุดมการณ์ทั้งสองฝ่ายนี้เคยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกันเพียงครั้งเดียวเท่านั้น นั่นคือ ตอนที่ บานี ฟาติมะห์ (ลูกหลานของศาสดามุฮัมมัด) กับ บานี อับบัส (Bani Abbas ลูกหลานของ อับบัส อาของศาสดามุฮัมมัด) ร่วมมือกันโค่นล้มราชวงศ์อุมัยยัด (Umayyad Dynasty) แล้วนำราชวงศ์อับบาสิด (Abbasid Dynasty) ขึ้นสู่อำนาจในปี ค.ศ.750 แต่ความเป็นพันธมิตรกันดังกล่าวก็มีอายุยืนยาวเพียงแค่ช่วงเวลา 4 ปีแห่งรัชสมัยของ อัล ซัฟฟาห์ อับบาซี (al-Saffah Abbasi)
      
       ชา เรียตี เป็นผู้ที่สร้างคำว่า “วิลลายัต-อี-ฟากีห์ (Willayat-e-Faqih การปกครองดูแลโดยคณะนักกฎหมายอิสลาม ก่อนที่ อัล มาห์ดี al-Mahdi จะปรากฏตัวขึ้นมาอีกคำรบหนึ่ง) และได้ชุบชีวิตให้แก่หลักกฎหมายอิสลามในศาสนาอิสลามฝ่ายชิอะห์ ตลอดจนเป็นผู้ที่สร้างที่ทางขึ้นมาสำหรับการปฏิวัติอิสลาม หลักการทฤษฎีสำคัญดังกล่าวนี้ เป็นข้อเสนอใหม่เพื่อให้มีการสร้างพันธมิตรระหว่างอิสลามสุหนี่กับอิสลามชิ อะห์ขึ้นมาอีกครั้ง โดยในคราวนี้อิหร่านที่เป็นชิอะห์คือกองหน้าของการปฏิวัติ ขณะที่พวกอิสลามิสต์ฝ่ายสุหนี่เป็นผู้ที่เข้าร่วม อย่างไรก็ดี มันยังคงเป็นกลุ่มพันธมิตรที่เต็มไปด้วยความหงุดหงิดไม่สบายใจ ถึงแม้ว่าอิหร่านกำลังให้การคุ้มครองปกป้องพวกผู้นำของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม และของอัลกออิดะห์ รวมทั้งกำลังให้ความสนับสนุนการต่อต้านของพวกอิสลามิสต์ชาวปาเลสไตน์อยู่ก็ ตามที
      
       จากการที่อัลกออิดะห์กำลังก่อสร้างสมรภูมิ สงครามอันกว้างใหญ่ไล่ตั้งแต่อัฟกานิสถานไปจนถึงเอเชียกลาง และจากอิรักไปจนถึงโซมาเลีย ส่วนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมกำลังนำการลุกฮือของประชาชนในตะวันออกกลางและ แอฟริกาเหนือ ทั้งอิสลามฝ่ายสุหนี่และอิสลามฝ่ายชิอะห์จึงกำลังก้าวย่างเข้าสู่ระยะแห่ง การตัดสินชี้ขาด
      
       อย่างไรก็ตาม แนวความคิดของพวกเขาที่แตกต่างกัน ระหว่าง “อาณาจักรอิหม่าน (Imamat) ซึ่งมีคณะผู้นำเป็นฝ่ายชิอะห์ กับ “อาณาจักรกาหลิป” (caliphate) ที่มีคณะผู้นำเป็นฝ่ายสุหนี่ ในที่สุดแล้วจะต้องเกิดการปะทะกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น และการอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็จะเป็นสิ่งที่ไม่อาจเป็นไปได้เลย เมื่อการก่อความไม่สงบของพวกชิอะห์ปรากฏขึ้นมาในตะวันออกกลาง ดังที่ผู้นำสูงสุดของอิหร่านได้ปรากฏตัวก้าวออกมายืนอยู่ข้างหน้าอย่างฉับ พลันในฐานะที่เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนที่สำคัญที่สุดของอิสลา มิสต์ชิอะห์ การเผชิญหน้ากันชนิดถึงเป็นถึงตายระหว่าง 2 ส่วนหลักของโลกมุสลิม ก็จะเริ่มต้นขึ้นแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น