ในทุกแง่มุมของการดำเนินชีวิต มุสลิมต้องกำหนดและแสดงบทบาทของตนให้สอดคล้องกับหลักการของอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดบทบาทที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
ดังนั้น วันสงกรานต์จึงถือเป็นวันหนึ่งที่ประเทศไทยกำหนดให้มีความสำคัญแต่ในเมื่อ มุสลิมเป็นส่วนหนึ่งของชนในชาติ แล้วเราจะกำหนดจุดยืนและบทบาทของตนเอย่างไรเกี่ยวกับวันสงกรานต์นี้
ความหมายของวันสงกรานต์
คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขี้น ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือพระอาทิตย์ย่างขึ้น สู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ 13,14,15 เมษายนทุกปี แต่วันสงกรานต์นั้นคือ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เป็นวันเนา วันที่ 15 เป็นวันเถลิงศก
ความหมายของคำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสงกรานต์ มีดังนี้
สงกรานต์ ที่แปลว่า "ก้าวขึ้น" "ย่างขึ้น" นั้น หมายถึง การที่ดวงอาทิตย์ ขึ้นสู่ราศีใหม่ อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเดือน ที่เรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่เมื่อครบ 12 เดือนแล้วย่างขึ้นราศีเมษอีก จัดเป็นสงกรานต์ปี ถือว่าเป็น วันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ ในทางโหราศาสตร์
มหาสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ หมายถึงสงกรานต์ปี คือปีใหม่อย่างเดียว กล่าวคือสงกรานต์หมายถึง ได้ทั้งสงกรานต์เดือนและสงกรานต์ปี แต่มหาสงกรานต์ หมายถึง สงกรานต์ปีอย่างเดียว
วันเนา แปลว่า "วันอยู่" คำว่า "เนา" แปลว่า "อยู่" หมายความว่าเป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์มา 1 วัน วันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งต้นปีใหม่ วันเนาเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทาง ในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว คืออยู่ประจำที่แล้ว
วันเถลิงศก แปลว่า "วันขึ้นศก" เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ 3 ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิม สำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนศกถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็น วันที่ 3 ก็หมายความว่า อย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ ไม่น้อยกว่า 1 องศาแล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่ 2 หรือที่ 3 ก็ได้
ความเป็นมาของวันสงกรานต์
ตามหลักแล้วเทศกาลสงกรานต์ถูกกำหนดตามการคำนวณโดยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริ ยยาตร์ โดยวันแรกของเทศกาลซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ (ย้ายจากราศีมีนไปราศีเมษ) เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก" จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2555 ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน) อย่างไรก็ตาม ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ
สงกรานต์เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี
พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัวในพิธีเดิม มีการสรงน้ำพระที่นำสิริ มงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น ‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ
ตำนานนางสงกรานต์
ตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย
ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอน ค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน
ทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่า ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้าศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้
ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุม พร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ
(อ้างอิงจาก: ฝ่ายวารสารและเอกสาร สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2549) )
ท่าทีของมุสลิมที่มีต่อวันสงกรานต์
จากสิ่งที่ได้นำเสนอไปแล้วข้างต้น ก็สรุปได้ว่า วันสงกรานต์นั้นมิใช่เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยเท่านั้น แต่ทว่ายังมีความเป็นตำนานและความเชื่อที่สืบทอดกันมาจากพี่น้องชาวพุทธและ ยังมีพิธีกรรมในรูปแบบที่เฉพาะอีกด้วย ซึ่งในเชิงหลักการของอิสลาม ถือว่าไม่อนุญาตแก่มุสลิมให้มีความเชื่อและร่วมพิธีกรรมที่ไม่รากฐานมาจาก อิสลาม
อัลเลาะฮ์ทรงตรัสความว่า
وَمَن يَبْتَغِ غَيْرَ الإِسْلاَمِ دِيناً فَلَن يُقْبَلَ مِنْهُ
“ผู้ใดแสวงหาอื่นจากอิสลามมาเป็นศาสนา (ของตน) แน่นอนเขาจะไม่ถูกตอบรับ” (อาลิอิมรอน : 85)
ข้อความบ่งชี้ของโองการนี้ ได้สะท้อนให้เห็นเช่นกันว่า ผู้ใดนำสิ่งอื่นที่เป็นหลักการอันนอกเหนือจากอิสลามและมิได้อยู่บนรากฐานใด รากฐานหนึ่งของอิสลามมาเป็นเรื่องของศาสนา เขาย่อมไม่ถูกตอบรับและอิสลามไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ด้วย
ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้วจนะไว้ความว่า
مَنْ تَشَبَّهَ بِقَوْمٍ فَهُوَ مِنْهُمْ
“ผู้ใดทำการเลียนแบบคล้ายกับชนกลุ่มหนึ่ง แน่นอนเขาย่อมเป็นส่วนหนึ่งจากพวกเขา”
วจนะนี้ ฉายให้เราเห็นว่า การงานใดที่ไม่มีหลักการหรือรากฐานจากศาสนาอิสลาม แล้วมีเจตนาเลียนแบบหลักการของชนกลุ่มหนึ่งหรือประเพณีของชนกลุ่มหนึ่งที่ ขัดกับหลักการอิสลาม เขาก็ย่อมเป็นส่วนหนึ่งจากผู้ที่กระทำตามแนวทางของพวกเขา
พี่น้องชาวพุทธอาจจะอ่านบทความนี้ และตั้งคำถามขึ้นว่า มุสลิมรังเกียจประเพณีของชาวพุทธหรือประเพณีของชาวไทยกระนั้นหรือ? ทั้งที่เราเป็นคนไทยเหมือนกัน ผมขอเรียนดังนี้นะครับว่า การที่เรามิได้ร่วมพิธีกรรมหรือกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานสงกรานต์นั้น มิใช่หมายถึงเรารังเกียจ แต่ทว่าหลักศาสนาได้ห้ามมิให้เรากระทำเท่านั้นเอง และการที่เรามิได้ร่วมพิธีกรรมหรือกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวกับสงกรานต์นั้น มิได้หมายความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องมุสลิมและชาวพุทธจะต้องสั่นคลอนลงไป หรือห้ามมุสลิมปฏิบัติดีต่อพี่น้องชาวพุทธก็หาไม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นวันสงกรานต์หรืออื่นจากวันสงกรานต์ อิสลามส่งเสริมให้มุสลิมปฏิบัติดีและแสดงความมีจรรยามารยาทที่ดีต่อพี่น้อง ต่างศาสนิก
อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงตรัสว่า
لَا يَنْهَاكُمُ اللَّهُ عَنِ الَّذِينَ لَمْ يُقَاتِلُوكُمْ فِي الدِّينِ وَلَمْ يُخْرِجُوكُم مِّن دِيَارِكُمْ أَن تَبَرُّوهُمْ وَتُقْسِطُوا إِلَيْهِمْ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُقْسِطِينَ
"อัลเลาะฮ์ไม่ห้ามพวกเขาที่จะกระทำดีและแสดงความยุติธรรมกับพวกที่ไม่รบรา พวกเจ้าในศาสนาและไม่ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเมืองของพวกเจ้า แท้จริง อัลเลาะฮ์ทรงรักบรรดาผู้แสดงความยุติธรรม" (อัลมุมตะฮินะฮ์ : 8)
ดังนั้น อิสลามเป็นศาสนาที่สอนให้มีจรรยามารยาทที่ดีงาม มีความเมตตาปราณี ส่งเสริมให้มีความยุติธรรมและสันติภาพ นอกจากนั้น อิสลามยังพิทักษ์รักษาเสรีภาพ เกียรติยศ และความมีศักดิ์ศรี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงคำขวัญแต่เป็นหลักการที่อิสลามยึดเหนี่ยว อยู่
ท่านศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม วจนะไว้ว่า
خَالِقِ النَّاسَ بِخُلُقٍ حَسَنٍ
"ท่านจงปฏิบัติดีต่อมวลมนุษย์ ด้วยจรรยาที่ดีงาม"
วจนะนี้ อยู่ในความหมายครอบคลุม ซึ่งรวมทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมที่เราต้องปฏิบัติด้วยจรรยามารยาทที่ดีงาม และมีคุณธรรมตราบใดที่การปฏิบัติ ดังกล่าวไม่ขัดกับหลักศาสนา
และตราบใดที่ต่างฝ่ายก็มีกฎหมายหรือพันธะสัญญาร่วมกันว่าจะอยู่กันอย่างสงบสุข นักปราชญ์นิติศาสตร์อิสลาม มีหลักนิติศาสตร์ความว่า
أُمِرْنَا أَنْ نَتْرُكَهُمْ وَمَا يَدِيْنُوْنَ
"เราได้ถูกใช้ให้ทำการปล่อย (ให้เป็นอิสระกับ) พวกเขาและสิ่งที่พวกเขานับถือ"
"เราได้ถูกใช้ให้ทำการปล่อย (ให้เป็นอิสระกับ) พวกเขาและสิ่งที่พวกเขานับถือ"
หมายถึง เราต้องไม่ไปละเมิดหลักความเชื่อและสิ่งที่พวกเขานับถือ และหลักความเชื่อของพวกเขาต้องไม่สร้างความเดือดร้อนต่อมุสลิม ดังกล่าวก็เพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
นั่นคือ พี่น้องมุสลิมต้องกำหนดบทบาทของตนเองอันถูกต้องที่เกี่ยวข้องกับวันสงกรานต์ และมุ่งสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับหลักการของอิสลามต่อเพื่อนต่างศาสนา ในขณะที่เพื่อนชาวพุทธต้องทำความเข้าใจหลักการของอิสลาม เพื่อมิให้ความแตกต่างในหลักการของประเพณีและศาสนามาเป็นตัวกำหนดให้เกิด ความแตกแยกของชนในชาติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น